นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานอำนวยการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับโลก รายการ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก 2018 พรีเซ็นเต็ด บาย โตโยต้า” เป็นประธานในการประชุมการจัดการแข่งขันฯ ครั้งที่1/2561 ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 12 มกราคม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) แจ้งที่ประชุมว่า การแข่งขันรายการนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในการวิ่งมาราธอนของไทยที่มีการตัดตัวผู้วิ่งออกตามระยะทางทุกจุดที่วางไว้ ผู้ที่ไม่สามารถวิ่งเข้าจุดตามเวลาที่กำหนดจะถูกตัดออกจากการแข่งขันทันที จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและทำความเข้าใจในทุกจุด นอกจากนั้นได้รับแจ้งว่ารายการนี้ได้ถูกบรรจุเป็น 1 ใน 30รายการที่มีคะแนนสะสมในการวิ่งมาราธอนระดับโลกอีกด้วย เป้าหมายหลังจากนี้ คือ การสร้างให้เป็นมาราธอนที่มีคนอยากมาวิ่งมากที่สุด 1 ใน 5 รายการของทวีปเอเชีย ภายในเวลา 3 ปี ซึ่งตอนนี้มีผู้สมัครเข้ามาแล้วสรุปยอดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2560 รวม 17,534 คน รวมทุกระยะทั้งมาราธอน(42.195 กม.) ฮาล์ฟมาราธอน(21.1 กม.) มินิมาราธอน(10 กม.) ซึ่งมีชาวต่างชาติกว่า 3,000 คนที่สมัครเข้ามาจาก 43 ประเทศทั่วโลก และจะมีการรับสมัครระยะสไมล์รัน 3.5 กม. เพิ่มเติมอีก คาดว่าจะมีนักวิ่งในรายการนี้ประมาณ 22,000-25,000คน
ผู้รับผิดชอบด้านการจราจรกล่าวว่า เนื่องจากการวิ่งครั้งนี้เป็นการวิ่งผ่าเมือง ผ่านจุดสำคัญของกรุงเทพมหานคร จากราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก วิ่งผ่านถนนรามคำแหง (ใช้สะพานต่างระดับ) ถนนพระรามเก้า (ใช้สะพานต่างระดับ) ถนนดินแดง (ใช้สะพานต่างระดับ/อุโมงค์ลอดใต้สะพาน) ถนนราชวิถี (ใช้สะพานต่างระดับ) ถนนราชดำเนินนอก ถนนวิสุทธิกษัตริย์ สะพานพระรามแปด ถนนบรมราชชนนี (สะพานต่างระดับ) วกกลับมาที่ถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ ออกถนนราชดำเนินกลาง เข้าเส้นชัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้ต้องมีการปิดการจราจรในหลายจุด แต่ได้เตรียมการปิดในรูปแบบใหม่ คือ ปิดถนนในแต่ละช่วง 5 กม. เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ปิดทั้งเส้นทางวิ่งตลอดเวลา ทำให้กระทบกับการจราจรน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งการวิ่งทั้งหมดจะใช้เวลาปิดถนนในภาพรวมตั้งแต่เวลา 03.00-11.00 น.
ผู้รับผิดชอบด้านขนส่งแจ้งว่า จะมีรถบัสบริการรับนักวิ่งในการแข่งขันวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2 จุด คือ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทเรลลิงก์ มักกะสัน เพื่อไปราชมังคลากีฬาสถาน ของผู้แข่งขันระยะมาราธอน ตั้งแต่เวลา 00.00-02.30 น. และจากแอร์พอร์ทเรลลิงก์ มักกะสันไปยังสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ของผู้แข่งขันระยะอื่นๆ ระหว่างเวลา 02.30-05.00 น. เช่นเดียวกับขากลับที่จะมีรถบัสไปส่งที่แอร์พอร์ทเรลลิงก์ ตั้งแต่เวลา 06.00-11.00 น. รถจะออกทุก 5 นาที นอกจากนั้นยังมีบริการรถแท็กซี่ 400 คัน ฝ่ายจัดจะรับผิดชอบค่าโดยสารครั้งละ 100บาท ส่วนเกินผู้แข่งขันจะต้องจ่ายเอง รวมทั้งมีเรือโดยสารทางคลองแสนแสบ ออกจากผ่านฟ้าลีลาศทุก 10 นาทีอีกด้วย มั่นใจว่าช่วยลดปัญหาการจราจรได้มากพอสมควร
ฝ่ายแพทย์แจ้งว่า จะมีหมอและพยาบาล รวมทั้งทีมแพทย์พิเศษ “คุณหมอบ้าพลัง” ที่จะวิ่งพร้อมกับดูแลผู้เข้าแข่งขันตลอดระยะทางมาราธอน รวมกันทั้งสิ้น 250 คน
นายวีระศักดิ์กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการแข่งขันรายการนี้จะได้รับความสนใจจากนักวิ่งไทยและทั่วโลกอย่างมาก เพราะเป็นการวิ่งผ่าเมืองชั้นในที่ไม่เคยจัดมาก่อน โดยเน้นไปที่ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย มีเอกลักษณ์ ยั่งยืน รวมทั้งเป็นการช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวไทย แต่ละจุดที่วิ่งผ่านเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพมหานคร ยิ่งการได้ไอรอนแมน เอเชีย ที่มีประสบการณ์จัดการแข่งขันมาราธอนระดับโลก และไทยแลนด์ ไตรลีก มาจัดการแข่งขันนั้นทำให้มาตรฐานของการแข่งขันจะสูงอย่างมาก ในระยะเวลา 3 ปี อยากจะเห็นการแข่งขันอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอนเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่ติดระดับท็อป 5 ของโลกให้ได้
ทั้งนี้ หลังการประชุม คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้ร่วมกันสำรวจเส้นชัยและถ่ายภาพบริเวณถนนราชดำเนินกลาง เพื่อยืนยันถึงความพร้อมในการแข่งขันด้วย.