Thursday, November 21, 2024

ตามที่สหพันธ์แบดมินตันโลก(บีดับเบิ้ลยูเอฟ) ประกาศยุติระบบการแข่งขันเก็บคะแนนสะสมโลก “ซูเปอร์ซีรี่ส์” ที่ดำเนินมาถึง 11 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 ในปีที่ผ่านมา และจัดรูปแบบการแข่งขันเป็นเกรด และระดับ ต่างๆ ในปี ค.ศ.2018 นี้ ทำให้รายการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นจาก 12 รายการ และบวกอีก 1 รายการ “ซูเปอร์ซีรี่ส์ ไฟนอล” เป็นรวมทั้งสิ้น 16 รายการในปีนี้ แต่เงินรางวัลรวมก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่ผู้ฝึกสอนแบดมินตันในหลายชาติออกมาวิจารณ์ว่าจะไม่ส่งผลดีกับสภาพร่างกายของนักกีฬาประเภทเดี่ยว 10 อันดับแรก และคู่ 15 อันดับแรก ของโลก ถูกบังคับให้ไปแข่งขันรายการใหญ่ทั้งหมด

ล่าสุด เร็กซี่ ไมนากี้ หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักแบดมินตันทีมชาติไทย ชาวอินโดนีเซีย กล่าวว่า การที่โปรแกรมแข่งขัน และเงินรางวัลเพิ่มขึ้นอาจเป็นผลดี ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่การวางแผนของทีมงานผู้ฝึกสอน ซึ่งเร็กซี่ได้ปรึกษากับคณะผู้บริหารสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารของ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมฯ มาต่อเนื่อง และวางแผนไว้หมดแล้ว ซึ่งแผนการฝึกซ้อมของทีมชาติไทยจะเป็นแบบฝึกซ้อม 3 สัปดาห์ และแข่งขันติดต่อกัน 2 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของนักกีฬาด้วย โดยตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมานักกีฬายังคงฝึกซ้อมต่อเนื่องเพื่อเตรียมแข่งขัน ปริ้นเซส สิริวัณณวรี ไทยแลนด์ มาสเตอร์ส 2018 พรีเซ็นเต็ด บายเครือเจริญโภคภัณฑ์ และทรู คอร์ปอเรชั่น” วันที่ 9-14 ม.ค.นี้ ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ

สำหรับเป้าหมายในปีนี้ของสมาคมฯ เราหวังว่าในศึกทีมชาย และทีมหญิงชิงแชมป์โลก โธมัส-อูเบอร์ คัพ วันที่ 20-27 พ.ค.นี้ ทีมหญิงหวังว่าจะเข้ารอบรองฯ ให้ได้ และทีมชายเข้ารอบสองเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ดี หากเป็นไปได้ก็อยากให้นักกีฬาทั้งหมดมาเก็บตัวฝึกซ้อมร่วมกัน 6-7 สัปดาห์ก่อนแข่งขันเพื่อสร้างทีมเวิร์ก และได้ลองสลับคู่กันด้วย เพื่อปรับแผนในแต่ละแมตช์ ขณะที่ศึกเอเชี่ยนเกมส์เชื่อว่าทีมชาติไทยจะมีเหรียญรางวัลติดมือกลับมาแน่นอนหลังจากครั้งล่าสุดไม่มีเหรียญรางวัลติดมือกลับมาเลย” เร็กซี่ ไมนากี้ กล่าว

ด้าน “โค้ชเป้”ภัททพล เงินศรีสุข หัวหน้าผู้ฝึกสอน รร.สอนแบดมินตันบ้านทองหยอด และ “น้องเมย์”รัชนก อินทนนท์ เปิดเผยว่า การออกระเบียบดังกล่าวไม่น่าส่งผลเสียเท่าใดนัก หากทีมผู้ฝึกสอนได้วางแผนกันอย่างดี ซึ่งในส่วนของบ้านทองหยอดเอง ได้ปรับรูปแบบการฝึกซ้อมของนักกีฬาแล้ว ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้นักกีฬาลงแข่งขันด้วยสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ที่สุด เช่น มีอาการล้าน้อย และฟื้นฟูกลับมาลงแข่งขันให้เร็วที่สุด ซึ่งในส่วนของเมย์คงจะไม่ลงแข่งขันครบทั้ง 16รายการเกรด 2 ระดับ 4 ที่เทียบเท่ารายการระดับซูเปอร์ซีรี่ส์ เพราะในระเบียบได้เปิดช่องให้ลงแข่งขันไม่น้อยกว่า 4 จาก 7 รายการ แต่รายการระดับ เกรด 2 ระดับ 2 และ 3 น่าจะลงแข่งขันครบทั้ง 8 รายการ ซึ่งเป้าหมายที่คุยกับเมย์ในปีนี้คือการคว้าแชมป์ ออล อิงแลนด์แชมป์โลก และคว้าเหรียญในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย พร้อมกับรักษาอันดับโลกให้อยู่ในท็อป 5 ไว้ต่อไป

สภาพร่างกายเมย์ที่ผ่านอยู่ในช่วงที่ฟื้นฟู และยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนักกีฬาบางคนต้องใช้เวลาในการกลับมาอยู่ในช่วงท็อปฟอร์มถึง 6 เดือน ขณะเดียวกันในช่วงนี้เราก็มีการรื้อระบบการฝึกซ้อมใหม่ โดยมีเป้าหมายในการป้องกันอาการบาดเจ็บของนักกีฬา และทำให้แรงในการเล่นเสถียร พร้อมเร่งสปีดการเล่นเร็วขึ้น” โค้ชคู่ใจรัชนก กล่าว

ทั้งนี้ ตลอด 11 ปีในระบบ “ซูเปอร์ซีรี่ส์” มีนักแบดมินตันไทยทั้งคว้าแชมป์ระดับซูเปอร์ซีรี่ส์รวม 15 แชมป์ แบ่งเป็น หญิงเดี่ยว รัชนก อินทนนท์ 6 แชมป์พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข 1 แชมป์ชายเดี่ยว บุญศักดิ์ พลสนะ 2 แชมป์ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข 1 แชมป์หญิงคู่ ดวงอนงค์ อรุณเกษร/กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล 1 แชมป์ชายคู่ บดินทร์ อิสสระ/มณีพงศ์ จงจิตร 1 แชมป์ และคู่ผสม สุดเขต ประภากมล/สราลีย์ ทุ่งทองคำ 2 แชมป์ และ ทรงพล อนุกฤตยาวรรณ/กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล 1 แชมป์

Tags: , ,

Related Article

Archives

Categories

Archives

Categories