BANGKOK, THAILAND — “ททท.”ระเบิดศึก”อเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก 2018” เปิดตัวปีท่องเที่ยววิถีไทย คาดผู้เข้าร่วม4หมื่นคน ทำเงินสะพัดกว่า700ล้านบาท
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ณ โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ 5 ชั้น 4 ถนนรัชดาภิเษก นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 รายการ “อเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก 2018 บาย โตโยต้า” (AMAZING THAILAND MARATHON BANGKOK 2018 BY TOYOTA) ได้จัดพิธีแถลงข่าวการแข่งขัน โดยมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะรองประธานที่ปรึกษาการแข่งขัน ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย พันโทรุจ แสงอุดม รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.),มร.เจฟฟ์ เมเยอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอรอนแมน เอเชีย, นายสุรศักดิ์ สุทองวัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ร่วมด้วย
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ททท.ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เป็นเจ้าภาพหลักจัดการแข่งขัน โดยจะร่วมกับ IRONMAN ASIA ผู้จัดมาราธอนระดับโลก และไทยแลนด์ไตรลีก กำหนดจัดการแข่งขันวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 และจะจัดต่อเนื่องทุกปีในช่วงเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยวัตถุประสงค์หลัก เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวและกีฬา
“การจัดมาราธอนระดับโลกในเมืองหลวงนั้นเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับผมถ้าจะจัดมาราธอนระดับโลกคงต้องจัดที่เมืองหลวงของประเทศไทยเท่านั้น เพราะเรามีความพร้อมทุกด้าน โดยรายการนี้ตั้งเป้าผลักดันให้เป็นการแข่งขันวิ่งมาราธอนหลัก 1 ใน 4 ของทวีปเอเชีย ดึงดูดให้เกิดกระแสการเดินทางมาท่องเที่ยวและแข่งขันกีฬาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นศูนย์กลางของการแข่งขันกีฬาเชิงท่องเที่ยวของทวีปเอเชีย ทั้งนี้ ททท.จะใช้กระแสการวิ่งในการเปิดตัวปีท่องเที่ยววิถีไทยเก๋ไก๋อย่างยั่งยืนในปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วม 3-4 หมื่นคน ก่อให้เกิดรายได้ทั้งทางตรง และทางอ้อมในระบบเศรษฐกิจประเทศไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีรายการนี้จะถูกบรรจุในปฏิทินการแข่งขันมาราธอนระดับโลกต่อไปด้วย” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว
ขณะที่ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กล่าวว่า ได้วางแผนสปอร์ตทัวริซึ่มด้วยการนำการวิ่งมาราธอน หรือไตรกีฬา เป็นหนึ่งในโครงการหลักระยะยาว โดยการวิ่งมาราธอนรายการนี้ตั้งเป้าจะจัดอย่างน้อย 3 ปี และจะต้องติดอันดับ 1 ใน 10 มาราธอนระดับโลกที่คนอยากเดินทางมาแข่งขันมากที่สุด ซึ่งเราต้องการเป็นน้องใหม่ที่มาแรงที่สุดในวงการวิ่งมาราธอน ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันจัดการแข่งขันให้เต็มที่
นายกอบเกียรติ แสงวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยแลนด์ไตรลีก ในฐานะผู้จัดการแข่งขัน กล่าวว่า สำหรับการแข่งขันแบ่งเป็น วิ่งประเภทมาราธอน ระยะ 42.195 กม. ประเภทฮาล์ฟมาราธอน ระยะ 21.1กม. ประเภทมินิมาราธอน ระยะ 10 กม. และประเภทแฟมิลี่รัน 5 กม.
ส่วนเส้นทางการวิ่งนั้น ถือเป็นการวิ่งมาราธอนครั้งแรกของเมืองไทยที่จะวิ่ง “ผ่าเมือง” โดยในประเภทมาราธอน จะมีจุดปล่อยตัวที่ ราชมังคลากีฬาสถาน กกท. หัวหมาก วิ่งผ่านถนนรามคำแหง (ใช้สะพานต่างระดับ) ถนนพระรามเก้า (ใช้สะพานต่างระดับ) ถนนดินแดง (ใช้สะพานต่างระดับ/อุโมงค์ลอดใต้สะพาน) ถนนราชวิถี (ใช้สะพานต่างระดับ) ถนนราชดำเนินนอก ถนนวิสุทธิกษัตริย์ สะพานพระรามแปด ถนนบรมราชชนนี (สะพานต่างระดับ) วกกลับมาที่ถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ ออกถนนราชดำเนินกลาง เข้าเส้นชัย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ประเภทฮาล์ฟมาราธอน เริ่มจากถนนราชดำเนินกลาง ผ่านถนนราชดำเนินนอก ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนราชวิถี ผ่านพระบรมรูปทรงม้า ขึ้นสะพานพระรามแปด ถนนบรมราชชนนี (สะพานต่างระดับ) วกกลับมาที่ถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ ออกถนนราชดำเนินกลาง เข้าเส้นชัย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ประเภทมินิมาราธอน เริ่มจากถนนราชดำเนินกลาง ผ่านถนนราชดำเนินนอก ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนราชวิถี ผ่านพระบรมรูปทรงม้า อ้อมใต้สะพานพระรามแปด (ช่วงก่อนถึงถนนสามเสน) วกกลับมาถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ ออกถนนราชดำเนินกลาง เข้าเส้นชัย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ทั้งนี้จะเชิญนักวิ่งระดับโลกที่มีผลงานในระดับแชมป์ในรายการระดับโลก หรือมีอันดับนักวิ่งในอันดับ 20 คนแรกเข้าร่วมแข่งขัน ตามมาตรฐานในระดับสากล (IAAF Approval) นอกจากนี้ IRON MAN ยังจะมอบโควต้าให้นักวิ่งชาวไทยที่เข้าเส้นชัยคนแรกทั้งชายและหญิงได้มีโอกาสไปเข้าร่วมรายการระดับโลก อาทิ โตเกียว มาราธอน หรือ ลอนดอน มาราธอน ในฐานะ Elite อีกด้วย